บ่อดิน VS บ่อปูน (ซีเมนต์) มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร
ใครที่บ้านมีพื้นที่และกำลังวางแผนจะขุดบ่อเลี้ยงปลาในสวน หรือในบริเวณบ้าน แต่ยังลังเลว่าจะทำบ่อเลี้ยงปลาแบบไหนดี ระหว่างบ่อดินกับบ่อปูน (ซีเมนต์) เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป จึงอยากจะเลือกที่เหมาะกับสไตล์การเลี้ยงปลาของเรา วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูวิธีเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั้งบ่อดินและบ่อปูน (ซีเมนต์) และข้อดีข้อเสียของบ่อทั้งสองแบบ
“บ่อดิน” ให้ธรรมชาติช่วยดูแล
รู้หรือไม่ว่า ปลาสวยงามก็สามารถเลี้ยงในบ่อดินได้ แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วเรามักจะขุดบ่อดินเพื่อเลี้ยงปลาน้ำจืดอย่างปลานิล ปลาดุก ปลาแรด เพื่อไว้กินหรือขาย แต่ก็มีหลายคนก็เลี้ยงปลาสวยงามอย่างปลาคาร์พในบ่อดินเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลี้ยงปลาไว้กิน หรือเลี้ยงเพื่อความสวยงามก็ตาม ก่อนที่จะปล่อยปลาลงบ่อ จะต้องเตรียมบ่อเลี้ยงปลาให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อป้องกันโรคและสัตว์ที่เป็นศัตรูของปลาที่อาจจะเข้ามาทำร้ายปลาของเรานั่นเอง
How toเตรียมบ่อดินก่อนเลี้ยงปลา
การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาที่เป็นบ่อดิน มีขั้นตอนการเตรียมบ่อดังต่อไปนี้
- เตรียมพื้นที่สำหรับขุดบ่อให้เรียบร้อยรวมถึงวางแผนในการขุดบ่อว่าต้องการที่จะขยายพื้นที่บ่อในอนาคตหรือไม่
- หากเป็นบ่อเดิมที่มีอยู่แล้วให้ระบายน้ำออกจากบ่อให้หมดจากนั้นทำการกำจัดศัตรูของปลา หรือสัตว์ที่อาจจะทำร้ายหรือกินปลาของเรา ไม่ว่าจะเป็นงู หรือสัตว์นักล่าอื่นๆ ในกรณีที่เป็นปลาสวยงามอย่างปลาคาร์พไม่แนะนำให้เลี้ยงร่วมกับปลากินเนื้อทุกชนิด เพราะปลาคาร์พอาจจะถูกทำร้ายได้
- กำจัดวัชพืชที่อยู่ก้นบ่อและรอบบริเวณบ่อ พร้อมตกแต่งบริเวณคันบ่อให้สวยงามและมีความแข็งแรง
- ตากบ่อเพื่อฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ในบ่อให้หมดไป
- โรยปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ปริมาณขึ้นอยู่กับสภาพดินในบ่อเพื่อปรับสภาพดิน
- ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อเพิ่มสารอาหารให้แก่บ่อปลา
- ปล่อยน้ำที่ผ่านการกรองเข้าไปในบ่อแล้วทิ้งเอาไว้ประมาณ 10-15 วัน ก่อนปล่อยปลาลงบ่อ
การปล่อยปลาลงบ่อ แนะนำให้ปล่อยในเวลาเช้า เพื่อป้องกันปลาช็อกเมื่อเจออุณหภูมิน้ำที่แตกต่างกัน หรือนำถุงบรรจุปลาใส่ในบ่อประมาณ 30 นาที เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำใกล้เคียงกันก่อนปล่อยปลาออกมา
ข้อดี-ข้อเสียของการเลี้ยงปลาในบ่อดิน
ข้อดีของการเลี้ยงปลาในบ่อดินคือ ปลาจะถูกเลี้ยงในสภาพที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และมีอาหารตามธรรมชาติให้กินทั้งวัน ทำให้ปลาที่ถูกเลี้ยงในบ่อดินจะโตเร็วกว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อปูนหรือบ่อซีเมนต์
ส่วนข้อเสียคือ เราไม่สามารถควบคุมสภาพในบ่อได้ 100% โดยอาจจะมีโรคหรือศัตรูที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน
“บ่อปูนซีเมนต์” สวยงาม ดูแลง่าย
สำหรับคนที่เลี้ยงปลาสวยงาม หลายคนเลือกเลี้ยงปลาในบ่อปูน (ซีเมนต์) มากกว่าบ่อดิน เนื่องจากบ่อปูน (ซีเมนต์) มีข้อดีข้อเสียที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงในบริเวณบ้าน หรือในเมืองมากกว่านั่นเอง เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ที่เราจะต้องเตรียมบ่อเลี้ยงปลาให้มีความเหมาะสม ปรับสภาพให้เหมาะแก่การเลี้ยงปลาเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปลาเป็นโรค หรือตายโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
How to เตรียมบ่อปูน (ซีเมนต์) ก่อนเลี้ยงปลา
การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาที่เป็นบ่อปูน (ซีเมนต์) มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เตรียมพื้นที่สำหรับทำบ่อให้เรียบร้อย หากว่าเป็นบ่อปูน (ซีเมนต์) เก่า ก็ให้สูบน้ำออกก่อน จากนั้นทำความสะอาดบ่อให้ปราศจากตะไคร่น้ำ หรือสิ่งสกปรก
- ปล่อยน้ำลงไปในบ่อแช่น้ำประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นปล่อยน้ำออกจนหมด
- เติมน้ำลงไปในบ่อรอประมาณ 3 วัน ก่อนปล่อยปลาลงบ่อ
การเลี้ยงปลาในบ่อปูนแม้ว่าจะสะดวกและง่าย แต่ระวังว่าเกิดตะไคร้น้ำและสกปรกได้ง่าย และควรศึกษาธรรมชาติของปลาที่เลี้ยง เพื่อสุขภาพที่ดีของปลา
ข้อดี-ข้อเสียของการเลี้ยงปลาในบ่อปูน
สำหรับข้อดีในการเลี้ยงปลาในบ่อปูน (ซีเมนต์) ที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ดูแลรักษาง่าย และป้องกันโรคของปลาได้ง่ายกว่าบ่อดิน ซึ่งหากว่าเราดูแลทำความสะอาดบ่ออย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ปลาสุขภาพดีในระยะยาวอย่างแน่นอน
ส่วนข้อเสียของการเลี้ยงปลาในบ่อปูนก็คือ ไม่มีอาหารตามธรรมชาติเหมือนอย่างการเลี้ยงในบ่อดิน ผู้เลี้ยงจึงต้องเอาใจใส่ให้อาหารปลาอย่างเพียงพอ และจัดระบบนิเวศให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของชนิดปลาที่เลี้ยง
การเลี้ยงปลาในบ่อดินและบ่อปูน (ซีเมนต์) มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องพิจารณาความต้องการ สไตล์การเลี้ยง และพื้นที่ในการเลี้ยงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลี้ยงปลาในบ่อดินหรือบ่อปูน อาหารปลาก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เราขอแนะนำอาหารปลาสวยงาม Optimumจาก PCG Shop Online มั่นใจทุกครั้งที่ซื้อ เพราะซื้อตรงจากผู้ผลิตผ่านทางเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป