คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันมนุษย์มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อน (Companion animal) มากขึ้น โดยเฉพาะคนเมือง ไม่จำกัดอยู่แค่สุนัข และแมวเท่านั้น แต่ขยายวงออกไปในกลุ่มของสัตว์พิเศษ อาทิ กระต่าย เม่นแคระ หนูแฮมสเตอร์ เป็นต้น ทำให้เจ้าของและสัตว์เลี้ยงมีความใกล้ชิด และได้รับการดูแลดุจสมาชิกในครอบครัว เมื่อความสัมพันธ์และความใกล้ชิดระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงมีมากขึ้น โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน (Zoonosis) ก็มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ยกตย. โรคพิษสุนัขบ้า เราควรพาสุนัขและแมว รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความตระหนักและห่วงใยในสุขภาพของทั้งคนและสัตว์เลี้ยง จึงทำให้เกิดการบูรณาการแก้ไขปัญหาสุขภาพแนวทางใหม่ที่รวมเอาแนวทางการปฏิบัติสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่สุขภาพที่ดีในองค์รวม และควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (One health) หรือสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อมมีความสมดุลไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน (Companion animal) นั้นมีประโยชน์ทางสุขภาพต่อเจ้าของสัตว์ สังคม สิ่งแวดล้อม และประโยชน์ต่อตัวสัตว์เอง แบ่งออกเป็น 4 หัวใหญ่คือ
- สัตว์เลี้ยงสามารถสร้างสังคมได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสุขภาพ โดยสัตว์เลี้ยงสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของ ลดความเหงา ความโดดเดี่ยว และผลเชิงลบต่อสุขภาพของเจ้าของที่ต้องอยู่คนเดียว เช่น เมื่อเวลาเหงา เวลาทุกข์ใจ หรือเครียดกับงาน เมื่อกลับบ้านมาเจอสัตว์เลี้ยงก็ทำให้ผ่อนคลาย รวมถึงบางครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก สัตว์เลี้ยงจะช่วยให้เด็กมีสังคมและเชื่อมความสัมพันธ์ได้ดี นอกจากนี้สัตว์เลี้ยงยังสามารถช่วยเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านได้อีกด้วย ตย.คือ เราพาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านก็จะเกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเราและเพื่อนบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงเหมือนกัน หรือในกรณีที่พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ สัตว์เลี้ยงก็จะทำให้เราได้เจอผู้คนใหม่ๆ เข้ามาทักทายสร้างสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้
- สัตว์เลี้ยงสามารถกระตุ้นให้พฤติกรรมของเจ้าของเปลี่ยนแปลงได้ โดยช่วยกระตุ้นการออกกำลังกายของเจ้าของ ในกรณีที่เจ้าของต้องการลดน้ำหนัก และสัตวแพทย์เองสามารถให้กำลังใจเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพผ่านความสัมพันธ์ของเจ้าของและสัตว์เลี้ยงได้ จากงานวิจัยพบว่า คนที่เลี้ยงสุนัขสามารถลดน้ำหนักได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยง เนื่องจากพาสุนัขออกไปเดินเล่น หรือพาไปออกกำลังกาย ซึ่งมีประโยชน์ทางสุขภาพทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้สัตว์เลี้ยงสามารถให้กำลังใจในการดำรงชีวิตในแต่ละวันได้ จะเห็นผลได้ชัดในเด็ก โดยเฉพาะในวันที่จิตใจทุกข์ทรมานจากเรื่องต่างๆ เช่นความรัก ความเจ็บป่วย การทำงาน เป็นต้น
- สัตว์เลี้ยงสามารถลดอันตรายให้กับเจ้าของได้ มีรายงานว่าการที่เจ้าของสูบบุหรี่ คนที่ได้รับควันบุหรี่ทางอ้อม (Second hand smoke) คือคนและสัตว์เลี้ยง ดังนั้นเจ้าของที่มีเลี้ยงสัตว์ในบ้านจะมีแนวโน้มการสูบสูบบุหรี่ลดลง หรือเลิกสูบไปเลย เมื่อพบว่าสัตว์เลี้ยงของเขาป่วยแทน กรณีในต่างประเทศ วัยรุ่นไร้บ้านแต่อยู่กับสัตว์เลี้ยงจะอัตราการใช้ยาเสพติด และก่ออาชญกรรมน้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง
- สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยทำให้การรักษาดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านสุขภาพหรือทางด้านจิตใจ มีการรายงานว่าสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ และสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยให้มีการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข “ฮอร์โมนอ็อกซีโตซิน” ออกมาโดยการกอด และลดระดับฮอร์โมน “คอร์ติซอล” ที่เกิดจากความเครียดได้ ทำให้เรามีความสุข และบรรเทาความเครียดได้พร้อมๆกัน
ไม่ว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบใดก็มีทั้งบวกและลบ แต่ในบทความนี้เป็นการยกตัวอย่างด้านบวกของคนที่มีสัตว์เลี้ยง จะเห็นได้ว่ามีการมีสัตว์เลี้ยง ส่งผลด้านบวกด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อร่างกายและจิตใจแข็งแรง ก็ทำให้เรามีอายุที่ยืนยาว การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนจึงเป็นแหล่งกระตุ้นพลังงานเชิงบวกให้กับคนเลี้ยง ให้กับครอบครัว ส่งผลไปยังวงกว้างอย่างสังคม แต่ทั้งนี้เมื่อเราเลี้ยงสัตว์แล้ว เราควรให้ความรักและเอาใจใส่ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลสัตว์เมื่อป่วย ไม่ทอดทิ้งให้เป็นภาระสังคมค่ะ
อ้างอิงจาก
Alan A. MONAVVARI, Zooeyia – The Health Benefits of Companion Animals and an Essential Contributor to One Health in the Community